
ปี 2022 นี้ เทรนด์ของกาแฟมีแนวโน้มไปในทิศทางไหนบ้าง มาดูกัน...
▪️ ส่งถึงหน้าบ้านแบบรับสมาชิก
จะแตกต่างกับการสั่งเดลิเวอรี่ที่เราคุ้นกันนิดหน่อย "แบบรับสมาชิก" จะเป็นการสมัครและจ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้า
จากนั้นก็จะมีกาแฟแบบที่คุณชื่นชอบส่งตรงถึงหน้าบ้านเป็นประจำตามที่คุณกำหนด ซึ่งฮิตมากในต่างประเทศ ส่วนเอเชียเริ่มมีบ้างแต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่
▪️ ต้องการความโปร่งใสในทุกขั้นตอน
ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับแหล่งที่มามากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การแปรรูป จนถึงขั้นตอนในการชง
โดยใส่ใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องไม่ขัดหลักจริยธรรม เช่น ชาวไร่ต้องได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นต้น
▪️ อุดหนุนกาแฟในท้องถิ่น
อาจเพราะผลกระทบในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้ร้านกาแฟที่ใกล้บ้าน ตอบโจทย์คอกาแฟมากขึ้น
หลายคนเลี่ยงการเดินทางไกล หรือเลี่ยงสถานที่ที่คนเยอะๆ จากเคยดื่มร้านกาแฟยอดฮิตในเมือง ก็หันกลับมาสนับสนุนร้านในท้องถิ่นแทน
▪️ นมจากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
เช่น นมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง และนมมะพร้าว ซึ่งสามารถใช้แทนนมวัวได้เป็นอย่างดี และมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้กันเลยทีเดียว ที่สำคัญยังตอบโจทย์ผู้ที่ทานเจ หรือมังสวิรัติอีกด้วย
▪️ คุณภาพระดับซูพีเรีย
กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ยังคงได้รับความนิยม แต่ทั้งเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภคก็ยังต้องการกาแฟที่พิเศษและดีที่สุดแบบ Superior quality coffee (คุณภาพระดับซูพีเรีย)
เช่น กาแฟสายพันธุ์เดียวและจากแหล่งปลูกเดียวกัน ที่เรียกว่า "ซิงเกิ้ล ออริจิ้น" ซึ่งผลิตครั้งละน้อย จากแหล่งปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
▪️ กาแฟเบลนด์แบบซิงเกิ้ลออริจิ้น
ก่อนนี้กาแฟเบลนด์ไม่เป็นที่นิยม เพราะการนำเมล็ดกาแฟ 2 พันธุ์ขึ้นไปมาผสมเข้าด้วยกัน เป็นการสร้างรสชาติใหม่ แต่ ประหยัดต้นทุน และเป็นการปกปิดจุดด้อยของกาแฟ จึงเน้นกาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้นมากกว่า
แต่ในปัจจุบัน คนเริ่มให้ความสนใจกาแฟเบลนด์มากขึ้น สืบเนื่องจากในการแข่งขันชิงแชมป์กาแฟโลกทั้งเวทีของบริวเวอร์และบาริสต้า ผู้เข้าแข่งขันมีการนำกาแฟซิงเกิ้ล ออริจิ้น แบบเบลนด์ 2 ชนิด มาใช้ประกวดมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากทีเดียว
▪️ ต้องรออีก3ปีร้านกาแฟถึงจะเหมือนเดิม
แม้การใช้ชีวิตเหมือนก่อนโควิดระบาดจะเริ่มคืนกลับมา แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย จำนวนลูกค้าร้านกาแฟยังไม่เท่าเดิม
ส่วนหนึ่งเพราะกระแส "กาแฟแบบรับสมาชิก" และอีกส่วนเกิดจากคอกาแฟทั้งหลายซื้อเครื่องชงไว้ที่บ้านและทำจนกลายเป็นงานอดิเรกนั่นเอง
**ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ